วันนี้ที่โต๊ะพระวาจา

3 พฤศจิกายน 2023, ลก 14:1-6

ชายที่เป็นโรคบวมคงจะไม่ได้รับการรักษาจากพระเยซูเจ้าเป็นแน่หากพระองค์คำนึงถึงข้อห้ามของวันสะบาโต หากพระองค์มัวคิดว่าคนที่อยู่รอบข้างจะมีความคิดอย่างไรต่อสิ่งที่พระองค์จะกระทำ หากพระองค์ต้องรอให้ทุกคนเห็นด้วยกับความดีที่พระองค์จะกระทำ

ลก 14:5

จงทำความดีเพราะมันดี จงช่วยเพราะมีความต้องการให้ช่วย ทำดีอะไรได้ก็จงทำไปเถิด ไม่ต้องรอฟ้ารอฝนอำนวย

คุณธรรมที่ช่วยให้เอาชนะบาปต้น 7 ประการ

บาปต้น 7 ประการสามารถเอาชนะได้ด้วยอาศัยคุณธรรมที่มีคุณลักษณะที่ตรงข้ามกัน 7 ประการ ดังนี้คือ

ความใจดี จะช่วยให้เอาชนะความอิจฉา โดยมีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ

ความพอเพียง รู้จักประมาณตน ช่วยรักษาเยียวยาความตะกละ โดยการปลูกฝังความปรารถนาในการรักษาสุขภาพให้ดีพร้อมที่จะรับใช้ผู้อื่น

ความเมตตาหรือความรัก ช่วยรักษาความตระหนี่(ความโลภ) โดยการมีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นด้วยใจกว้างมากกว่าการสะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตนเอง

ความบริสุทธิ์หรือการควบคุมตนเอง ช่วยรักษาตัณหาราคะที่มีอยู่ในตัวเราด้วยการควบคุมความปรารถนาและการใช้พลังในตนเองเพื่อความดีต่อผู้อื่น

ความขยันหมั่นเพียรหรือความร้อนรน ช่วยรักษาความเกียจคร้านโดยการสละตนเองอุทิศตนเพื่อประโยชน์หรือความดีสำหรับผู้อื่นมากกว่าชีวิตที่สะดวกสบายของตนเอง

ความอดทน ช่วยขจัดความโมโห โกรธแค้น โดยการใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจถึงความจำเป็นและความปรารถนาต่างๆ ของผู้อื่นก่อนที่จะทำและพูดสิ่งใด

รากเหง้าของบาปต้น 7 ประการ

บาปต้นเหล่านี้มีรากเหง้ามาจาก “ความปรารถนาที่มากขึ้นและความต้องการที่เกินเลยของมนุษย์ ” บาปแต่ละประการขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของคริสตศาสนา กล่าวคือ การรักพระเจ้า รักเพื่อนมนุษย์ และรักร่างกายของเรา เราต้องไม่ลืมว่า ร่างกายเป็นพระวิหารหรือที่ประทับของพระเจ้า (1 คร 6:19-20)

นักบุญเปาโลเชียนในจดหมายถึงชาวฟิลิปี 4 :11-12 ว่า “…ข้าพเจ้ามิได้พูดเช่นนี้เพราะต้องการสิ่งใด ช้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะพอใจในสภาพของตน…” ซึ่งโจมตีรากเหง้าของบาปต้นแต่ละอย่าง ที่จริงแล้วเปาโลกำลังบอกว่าพระเจ้าสามารถดูแลความต้องการของเราและไม่จำเป็นต้องมีตัณหาหรือความปรารถนาในสิ่งต่างๆ มากจนเกินไป

เชิญเรารำพึงตามบทเพลง พระเจ้าทรงเลี้ยงดู
(ที่มา https://www.youtube.com/watch?v=-PKBgipE7aQ)

บาปต้น 7 ประการและความหมาย

บาปต้น 7 ประการมีดังนี้คือ
1. ความจองหอง ทะนงตน
2. ตระหนี่
3. อิจฉา
4. โมโห
5. ตัณหา
6. ตะกละ
7. เกียจคร้าน

1. ความจองหอง ทะนงตน (Pride)
คือทิฐิ เชื่อภูมิใจตนเอง โอ้อวด ขึ้โม้วางมาด ไม่ต้องการคำแนะนำ ถือตัว หยิ่งยโส มักใหญ่ใฝ่สูงโดยไม่รู้จักประมาณตนเอง

พระคัมภีร์กล่าวถึงในหนังสือประกาศกเยเรมีห์ 9:23 ว่า “…ถ้าผู้ใดต้องการจะอวดตนก็จงอวดในเรื่องนี้ อวดว่าเขาเข้าใจและรู้จักเรา ว่าเราคือพระยาห์เวห์ ผู้แสดงความรักมั่นคง ความถูกต้อง และความยุติธรรมในแผ่นดิน เราพอใจในสิ่งเหล่านี้ พระยาเวห์ตรัส”

2. ตระหนี่ (Greed, Avarice)
โลภ การปรารถนาในสิ่งของนอกกายมากจนเกินความพอดี ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งของของโลกวัตถุนิยม สะสม ขาดเมตตา ขาดความเผื่อแผ่ ใจแคบ และไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น

“อย่าให้ความโลภทรัพย์สินเงินทองครอบงำชีวิตของท่าน จงพอใจในสิ่งที่ท่านมี พระเจ้าตรัสว่า “เราจะไม่ละเลยหรือทอดทิ้งเจ้า”” (ฮบ 13:5)

“…ผู้ให้ด้วยใจกว้างก็ยิ่งร่ำรวย ผู้อดออมเกินไปก็จะยิ่งยากจน…” (สภษ 11:24)

“…คนโลภก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท แต่ผู้วางใจในพระยาห์เวห์จะเจริญรุ่งเรือง..”(สภษ 28:25)

3. อิจฉาริษยา (Envy)
คือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ในสิ่งที่เป็นของคนอื่น หมายรวมถึงความอิจฉา เกลียดชัง ซุบซิบนินทา กล่าวร้ายป้ายสี ไม่ชอบให้คนอื่นได้ดีกว่าตน

พระคัมภีร์ที่กล่าวถึงความอิจฉาปรากฎในหนังสือโยบ 5:2
“…จงรู้ว่าความโกรธฆ่าคนโง่เขลา และความอิจฉาริษยาฆ่าคนขาดสติ…”

“อย่าเดือดร้อนเรื่องคนเลวร้าย อย่าอิจฉาริษยาผู้ทำผิด…” (สดด 37:1)

“ข้าพเจ้าเห็นว่าความลำบากตรากตรำทั้งหลายและความชำนาญในการงานทั้งหมดมาจากความอิจฉาที่มนุษย์มีต่อกัน นี่ก็ไม่เที่ยงแท้ด้วย เป็นการวิ่งไลตามลม” (ปชญ 4:4)

4. โมโห (Wrath, Anger)
หมายถึงความฉุนเฉียว อาฆาต แก้แค้น ไม่สะกดอารมณ์ เกลียดชังผู้อื่น

พระคัมภีร์กล่าวถึงความโมโหในจดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวโรมว่า
“…พี่น้องที่รักยิ่ง อย่าแก้แค้นเลย แต่จงให้พระเจ้าทรงตัดสินลงโทษเถิด ดังที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า การแก้แค้นเป็นของเรา เราจะตอบแทนการกระทำของทุกคน พระเจ้าตรัสดังนี้…” (รม 12:19)

5. ตัณหา (Lust)
การหมกมุ่น ฝักใฝ่อยู่แต่ฝ่ายเนื้อหนัง กิริยาวายาหยาบโลน ไม่รักษาเกียรติและศักดิ์ศรี แต่งกายล่อแหลม ความคิดสกปรก ลุ่มหลง

พระคัมภีร์พูดถึงความใคร่ ราคะตัณหา ในจดหมายนักบุญเปาโลถึงทิโมธี (2 ทธ 2:22) ว่า “…จงหลีกหนีอารมณ์และความรู้สึกของคนหนุ่ม แต่จงมุ่งหาความชอบธรรม ความเชื่อ ความรักและสันติ…”

6. ตะกละ (Gluttony)
หมายรวมถึง การคิดพูดแต่เรื่องอาหาร ไม่ยับยั้งในการกินการดื่ม มุมมาม มักได้ตลอดเวลา ไม่พอใจกับสิ่งที่ตนมี

ใน 1 โครินธ์ 10:31 กล่าวไว้ว่า “…เมื่อท่านจะกินจะดื่มหรือจะทำอะไรก็ตาม จงกระทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าเถิด…”

7. เกียจคร้าน (Sloth)
หมายถึงความเฉื่อยชา ลังเล ไม่ใส่ใจ ท้อถอย ขาดความรับผิดชอบ ไม่สม่ำเสมอ ตามใจตนเอง รักษาความสบาย ผัดวันประกันพรุ่ง ล้มเหลวในการใช้พรสวรรค์ที่พระให้มาให้เกิดประโยชน์

กษัตริย์ซาโลมอนตรัสถึงความเกียจคร้านในหนังสือสุภาษิต 6:6 ว่า “…คนเกียจคร้านเอ๋ย จงไปดูมดเถิด จงพิจารณาดูวิถีชีวิตของมด แล้วท่านจะมีปรีชา…”

ประวัติที่มาของบาปต้น 7 ประการ

ในพระคัมภีร์ไม่ได้กล่าวถึงบาปต้น 7 ประการโดยตรง การจำแนกดังกล่าวเริ่มต้นมาราวปี ค.ศ. 600 โดยพระสันตะปาปาเกรโกรี่ มหาสมณะ (Pope Gregory the Great)
พระสันตะปาปา เกรโกรี มหาสมณะ , 3 กันยายน
ต่อมาได้รับการอธิบายอย่างละเอียดโดยนักบุญโทมัส อไควนัส นักปราชญ์ของพระศาสนจักร ในราวศตวรรษที่ 13
นักบุญโทมัส อไควนัส, 28 มกราคม
ซึ่งพระคัมภีร์ในหนังสือสุภาษิต 6:16-19 มีกล่าวถึง “พระยาห์เวห์ทรงเกลียด 6 สิ่ง ยิ่งกว่านั้น มี 7 สิ่งที่พระเจ้าทรงรังเกียจ”
  1. ดวงตายโส
  2. ลิ้นมุสา
  3. มือที่หลั่งเลือดของผู้บริสุทธิ์
  4. ใจที่คิดแผนการชั่วร้าย
  5. เท้าที่รีบวิงไปสู่ความชั่ว
  6. พยานเท็จซึ่งหายใจเป็นคำมุสา
  7. ผู้ยุแหย่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทในหมู่พี่น้อง
นักบุญเปาโลในจดหมายของท่านถึงชาวกาลาเทีย กล่าวถึงบาปอื่นๆ นอกเหนือจากบาปต้น 7 ประการนี้ที่ส่งผลทำให้เราไม่ได้รับอาณาจักรพระเจ้าเป็นมรดก (กท 5:19-21)
“กิจการของธรรมชาติมนุษย์นั้นปรากฎชัดแจ้ง คือ การผิดประเวณี ความลามกโสมม การปล่อยตัวตามราคะตัณหา การกราบไหว้รูปเคารพ การใช้เวทมนตร์คาถา การเป็นศัตรูกัน การทะเลาะวิวาท ความอิจฉาริษยา ความโกรธเคือง การแก่งแย่งชิงดี การแตกแยก การแบ่งพรรคแบ่งพวก การเมามาย การสำมะเลเทเมา และอีกหลายประการในทำนองเดียวกันนี้… ข้าพเจ้าของเตือนท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งดังที่เคยเตือนมาแล้วว่า ผู้ที่ประพฤติตนเช่นนี้จะไม่ได้อาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก”

บาปต้น 7 ประการ(พยศชั่ว)

บาปต้น 7 ประการ คือความชั่วร้าย 7 ประการที่เป็นสาเหตุให้ที่นำไปสู่ความตาย (deadly)

บาปต้นแต่ละประการเป็นสาเหตุให้ถลำลึกทำบาป อื่นๆ ที่หนักมากขึ้นจนนำไปสู่ความตายหรือการลงโทษจากพระเจ้า ทำให้เกิดนิสัยชั่วร้ายผิดศีลธรรม กลายเป็น “พยศชั่ว” บาปที่มักทำซ้ำๆ จนกลายเป็นความเคยชิน

เทียบคำสอนพระศาสนจักร ภาค 3 ข้อ 1865-1869

ccc 1865-1869

ข้อคิดจากพระวาจาประจำวัน

9 กรกฎาคม 2022 วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 14 เทศกาลธรรมดา (อสย 6:1-8)

บางทีเราปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ตามที่พระเจ้าทรงเรียกเรา ด้วยเหตุผลที่ว่าเราเป็นผู้ไม่เหมาะสม เราไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะทำหน้าที่ เราไม่กล้าตักเตือนเพื่อนพี่น้องเพราะเรารู้สึกว่าเราเองก็ไม่ได้ดีไปกว่าเขา เราไม่กล้าสั่งสอนคนอื่นเพราะเรากลัวว่าเราจะโชว์โง่ เหมือนกับท่านประกาศกอิสยาห์ที่สำนึกถึงความไม่เหมาะสมของท่านเมื่อพระเจ้าทรงเรียกท่านเช่นเดียวกัน “วิบัติจงเกิดแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพินาศแล้ว เพราะข้าพเจ้าเป็นคนริมฝึปากมีมลทิน อาศัยอยู่ในหมู่ชนชาติริมฝีปากมีมลทิน…” (อสย 6:5) อย่างไรก็ดี สิ่งเดียวที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากผู้รับใช้ของพระองค์ไม่ใช่ความสามารถอันเก่งกาจของเรา แต่เป็น “การตอบรับ” ด้วยความเต็มใจ ซึ่งโดยการตอบรับนี้พระเจ้าทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ผ่านทางผู้รับใช้นั้น

พระเจ้าตรัสว่า “เราจะส่งใคร ใครจะไปแทนเรา” ข้าพเจ้าทูลตอบว่า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ โปรดส่งข้าพเจ้าไปเถิด”

อสย 6: 6
ข้าแต่พระเจ้า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ โปรดส่งข้าพเจ้าไปเถิด”

ข้อคิดจากพระวาจาประจำวัน

27 มิถุนายน 2022 วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 13 เทศกาลธรรมดา (อาโมส 2:6-10, 13-16)

ประกาศกอาโมสเตือนกษัตริย์และประชากรอิสราเอลในความหน้าซื่อใจคดของพวกเขาในการถือศาสนา พวกเขาโลภและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ทั้งที่กฎหมายของโมเสสเรียกร้องให้พวกเขาดูแลคนยากจนและผู้ถูกกดขี่ข่มเหงให้พ้นจากความอยุติธรรม รวมทั้งกษัตริย์ซึ่งควรจะต้องปกป้องบุคคลเหล่านี้ พฤติกรรมที่พวกเขาทำยังคงฝังรากอยู่ในสังคมปัจจุบัน แม้แต่ในพวกเราที่แสดงตนเป็นผู้มีความเชื่อความศรัทธา

“เพราะชาวอิสราเอลได้ล่วงละเมิดสามครั้งและสี่ครั้ง เราจะตัดสินลงโทษและจะไม่กลับคำ…”

อมส 2:6

วันนี้ อย่าลืมที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือแก่เพื่อนพี่น้องที่ต้องการความช่วยเหลือด้วยใจกว้าง

ข้อคิดจากพระวาจาประจำวัน

18 มิถุนายน 2022 วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา (2 พศด 24:17-25)

พฤติกรรมของกษัตริย์โยอาชทำให้เขาได้รับบทลงโทษอย่างน่าเศร้าในวาระสุดท้าย เขาปล่อยตัวเองให้อยู่ภายใต้การชักนำของคนชั่ว ปลดที่ปรึกษาที่เป็นสมณะและหันไปฟังประชาชนที่ไม่ได้ซื่อสัตย์ต่อพระยาห์เวห์และนับถือพระเท็จเทียม เขายังไม่เชื่อฟังคำตักเตือนของประกาศกเศคาริยาห์ซึ่งเป็นบุตรของเยโฮยาดาสมณะที่เคยช่วยชีวิตของพระองค์เมื่อครั้งยังเด็ก ปล่อยให้ประชาชนเอาหินทุ่มเศคาริยาห์จนเสียชีวิต กษัตริย์โยอาชกลายเป็นคนอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ…และบทลงโทษที่พระเจ้าทรงกระทำก็มาจากการกระทำของพระองค์และประชาชนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์

“ทำไมท่านทั้งหลายจึงละเมิดบทบัญญัติของพระญาห์เวห์ ท่านจะไม่ประสบความเจริญรุ่งเรือง ท่านได้ละทิ้งพระยาห์เวห์พระองค์จึงทรงละทิ้งท่าน”

2 พศด 24:20
การฆาตกรรมเศคาริยาห์ในลานพระวิหารของพระยาห์เวห์

ปลายทางของคนอกตัญญู ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า และคล้อยตามคนชั่ว คือความพินาศอย่าย่อยยับ

ข้อคิดจากพระวาจาประจำวัน

17 มิถุนายน 2022 วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 11 เทศกาลธรรมดา (2 พกษ 11:1-4, 9-18, 20)

ขณะที่พระนางอาธาลิยาห์สั่งฆ่าเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ หวังเพียงเพื่อคงอำนาจปกครองให้อยู่ในมือของตน พระธิดาของเยโฮรัมคือเยโอเชบาทรงนำเยโฮอาชซึ่งจะต้องถูกฆ่า ไปซ่อนไว้กับแม่นมในห้องที่พระวิหาร… นับเป็นการปกป้องผู้ที่จะสืบเชื้อสายบัลลังก์ของกษัตริย์ดาวิดที่พระเจ้าทรงสัญญาเอาไว้ได้

“เมื่อพระนางอาธาลิยาห์ พระชนนีของกษัตริย์อาคัสยาห์ทรงทราบว่าพระโอรสถูกปลงพระชนม์ ก็ทรงฆ่าเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ทันที”

2 พกษ 11:1

การยื้อยึดอำนาจไว้ในมือตน อาจเป็นการทำลายความดีที่ควรจะได้รับการสานต่อก็เป็นได้ ทำอะไรก็คิดให้ดีว่าที่ทำนั้นกำลังส่งเสริมหรือทำลายความดี